รถแข่ง Super Car ระหว่างรุ่น GTM และ GTC แตกต่างกันอย่างไร

          ระเบิดศึกที่สนาม ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต เป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 20-22 พ.ค. ที่ผ่านมา สำหรับรายการ Thailand Super Series รายการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน หนึ่งในรุ่นของการแข่งขันที่ได้รับความสนใจมากที่สุด คงหนีไม่พ้น รถแข่งที่แรงที่สุด และแพงที่สุดของรายการ นั่นก็คือ รถแข่งในรุ่น Super Car นั่นเอง

 

การปล่อยตัวของเหล่ารถแข่ง Super Car GTM

 

การปล่อยตัวของเหล่ารถแข่ง Super Car GTC

 

          โดยปกติแล้ว รายการแข่งขัน Thailand Super Series รถแข่งในรุ่น Super Car จะแบ่งแยกย่อยออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ Super Car Class GT3, Super Car Class GTM และรุ่นเล็กสุดนั่นก็คือ Super Car Class GTC

 

Lamborghini Huracan รถแข่งในรุ่น Super Car GTM

 

KTM X-Bow GT4 รถแข่งในรุ่น Super Car GTC

 

          สำหรับการแข่งขัน Thailand Super Series ประจำฤดู 2016 รุ่น Super Car เปิดให้ลงแข่งขันเพียง 2 รุ่นเท่านั้น ได้แก่ Super Car Class 2 GTM และ Super Car Class GTC เนื่องจากว่า หลายๆ คนที่ได้รับชมการแข่งขันใน Round 1 ที่สนาม ช้าง อินเตอร์ เนชั่นแนล เซอร์กิต ก็อาจจะสงสัยว่ารถแข่งแต่ละรุ่น มันมีความแตกต่างอย่างไรกันบ้าง ? ดูๆ แล้ว...มันแทบจะไม่มีอะไรต่างกันเลย ? เพราะฉะนั้น ในบทความนี้ เราจะมาเปรียบเทียบกันว่า อะไร คือ ความแตกต่างระหว่างรถแข่ง Super Car GTM และ Super Car GTC ?

          โดยในบทความนี้ ผมได้แบ่งเนื้อหาเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกจะเป็น “ความเหมือนกัน” ของรถแข่ง Super Car GTM และ GTC ส่วนบทที่ 2 จะเป็นความแตกต่างระหว่างรถแข่งทั้ง 2 รุ่นนี้

 

บทที่ 1

ความเหมือนกันของ GTM และ GTC

 

แอโรพาร์ท (Aerodynamic Devices)

          ข้อกำหนดเกี่ยวกับ Aerodynamics Devices หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “แอโรพาร์ท” (Aero Parts) ของรถแข่ง Super Car GTM และ Super Car GTC ใช้กฎเดียวกันทุกประการ เพราะเหตุนี้อีก ทำให้มันเป็นเรื่องยากมากที่เราจะแยกแยะรถแข่ง GTM และ GTC ด้วยการมองจากภายนอก

 

Mazda RX-7 รถแข่งในรุ่น Super Car GTC

 

          สำหรับรายละเอียดคร่าวๆ เกี่ยวกับข้อกำหนดของแอโรพาร์ทเป็นดังนี้ ลิ้นหน้าหรือสปลิตเตอร์ (Splitter) สามารถยื่นออกมาจากบอดี้ของตัวรถได้ไม่เกิน 70 มิลลิเมตร สำหรับสปอยเลอร์ทางด้านหลังนั้น สามารถยื่นออกมาจากท้ายรถได้ไม่เกิน 100 มิลลิเมตร สำหรับรายละเอียดลึกๆ เกี่ยวกับข้อกำหนดในเรื่องของแอโรพาร์ท ผมจะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้นะครับ ท่านผู้อ่านที่สนใจสามารถเข้าไปหาข้อมูลได้โดยตรงที่ http://www.thailandsuperseries.net/

 

ระบบส่งกำลังและระบบขับเคลื่อน (Transmission and Drivetrain)

          ระบบส่งกำลังของรถแข่ง Super Car GTM และ Super Car GTC สามารถเลือกใช้ได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็นเกียร์แบบ H-Pattern หรือว่าจะเป็นแบบซีเควนเชียลก็ตามแต่ถนัดเลย แต่มีข้อแม้ว่า ห้ามเปลี่ยนอัตราทดเกียร์ใดๆ ตลอดการแข่งขันในฤดูกาล 2016

          นอกจากนั้น ระบบส่งกำลังก็ยังสามารถเลือกได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็นขับหน้า ขับหลัง หรือแม้กระทั่งขับเคลื่อนสี่ล้อ (สำหรับระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ จะถูกบวกน้ำหนักเพิ่มอีก 40 กิโลกรัม ทั้งรถแข่งในรุ่น Super Car GTM และ Super Car GTC)

 

ช่วงล่างและระบบเบรก (Suspension and Brake)

          ช่วงล่างเป็นอีกหนึ่งระบบที่สามารถเลือกใช้ได้อย่างอิสระ แต่โดยมากแล้ว โครงสร้างของระบบกันสะเทือน จะถูกจำกัดโดยรูปร่างของตัวถังของรถแข่ง แต่สำหรับรถแข่งบางทีมก็ได้มีการโมดิฟายชิ้นส่วนของช่วงล่างเพื่อเพิ่มสมรรถนะของการขับขี่ให้ได้มากที่สุด ซึ่งถือเป็นงานที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อน

 

ระบบเบรกในรถแข่ง Porsche GT3 Cup (รุ่น Super Car GTM)

 

          สำหรับระบบเบรกนั้น สามารถเปิดระบบช่วยเหลือ ABS เพื่อป้องกันล้อล็อคได้ นอกจากนั้นแล้ว ยังสามารถเพิ่มระบบหล่อเย็นน้ำมันเบรก โดยอากาศที่นำมาแลกเปลี่ยนความร้อนจะต้องเป็นอากาศจากภายนอกเท่านั้น

 

บทที่ 2

ความแตกต่างของ GTM และ GTC

 

บอดี้ของรถแข่ง (Bodywork)

          รถแข่ง Super Car GTM และ Super Car GTC ถูกกำหนดให้เป็นรถแข่งล้อปิด นอกจากนั้น รุ่นของรถแข่งที่นำมาแข่งขันจะต้องเป็นรถยนต์ที่มีขายอยู่ตามท้องตลาด และมีจำนวนการผลิตอย่างน้อย 2,500 คันต่อปี และห้ามมีการดัดแปลงรูปทรงของตัวรถให้ผิดเพี้ยนไปจากเดิม เว้นเสียแต่ว่าสามารถเปลี่ยนวัสดุที่ติดมากับรถ ให้เป็นวัสดุประเภทอื่นที่มีน้ำหนักเบาขึ้น หรือมีความแข็งแรงเพิ่มขึ้น

 

KTM X-Bow GT4 จากทีม Vattana Motorsport (รุ่น Super Car GTC)

 

          ส่วนความแตกต่างระหว่างรถแข่ง Super Car GTM และ Super Car GTC อยู่ตรงที่ว่า รถแข่ง GTM จะไม่อนุญาตให้นำรถแข่งเปิดประทุนมาทำการแข่งขันได้ (Open bodywork cars) แต่สำหรับรถแข่งรุ่น GTC สามารถนำรถแข่งเปิดประทุนมาทำการแข็งขันได้ โดยมีข้อแม้ว่า ต้องใส่หลังคาแข็งที่ติดตั้งมาจากโรงงาน แต่ถึงกระนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของกรรมการจัดการแข่งขันด้วยเช่นกัน

 

เครื่องยนต์และระบบอัดอากาศ (Engine and Air Induction System)

          เครื่องยนต์ คือ หนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของรถแข่ง และเป็นหนึ่งในปัจจัยอันดับต้นๆ ที่จะนำมาซึ่งชัยชนะ สำหรับรถแข่งในรุ่น Super Car GTC และ Super Car GTM ไม่ได้มีการกำหนดขนาดเครื่องยนต์ไว้อย่างชัดเจน แต่หากว่ามีข้อกำหนดในเรื่องของระบบอัดอากาศ

 

Mazda RX-7 จากทีม Rotary Revolution (รุ่น Super Car GTC)

 

          โดยระบบอัดอากาศประเภทเทอร์โบชาร์จเจอร์ที่อยู่ในรถแข่งรุ่น Super Car GTC จะถูกกำหนดให้มีขนาดของปากทางเข้าเทอร์โบไม่เกิน 40 มิลลิเมตร (เทอร์โบคู่ปากทางเข้าไม่เกิน 29 มิลลิเมตร) โดยวัตถุประสงค์ของการจำกัดขนาดปากทางเข้า ก็เพื่อเป็นการจำกัดแรงม้าทางอ้อม ซึ่งเป็นการลดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างรถแข่งแต่ละคัน

          สำหรับรถแข่ง Super Car GTM ไม่ได้มีการกำหนดขนาดของระบบอัดอากาศแต่อย่างใด หากแต่ทางกรรมการจะกำหนดความดันที่ระบบอัดอากาศสร้างได้ (เรียกว่า “บูสต์”) โดยบูสต์ที่สร้างได้จะถูกจำกัดภายใต้มาตรฐาน Balance of Performance (B.O.P) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้เพื่อสร้างความสมดุลให้กับการแข่งขัน

 

ขนาดของยาง (Tire Width)

          ยางรถแข่งถือเป็นอีกองค์ประกอบที่สำคัญอีกชิ้นอย่างหนึ่ง เนื่องจากว่ายางเป็นส่วนเดียวที่สัมผัสกับพื้นแทร็ค ซึ่งช่วยสร้างแรงยึดเกาะ (Grip) ในการขณะการเร่งและเบรก นอกจากนั้นยังสร้างแรงยึดเกาะให้กับตัวรถในขณะเข้าโค้ง ยางรถแข่งจึงถือเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญไม่แพ้เครื่องยนต์และช่วงล่าง

 

Ginetta G55 จากทีม Singha Cosmo TT Motorsport (รุ่น Super Car GTC)

 

          รถแข่ง Super Car GTC สามารถใส่ยางที่มีหน้ากว้างได้สูงสุด 280 มิลลิเมตร ถ้าหากว่าหน้ายางมีความกว้างกว่าระยะที่กำหนด จะต้องทำการบวกน้ำหนัก 3 กิโลกรัม ต่อ 1 มิลลิเมตร ยกตัวอย่างเช่นถ้าหากว่า...รถแข่งในรุ่น Super Car GTC ใส่ยางหน้ากว้าง 285 มิลลิเมตร ก็ต้องบวกน้ำหนักเพิ่มไปทั้งหมด 3 x 5 = 15 กิโลกรัม นั่นเองครับ

 

Ferrari 458 Italia Challenge จากทีม Singha Motorsport Team Thailand (รุ่น Super Car GTM)

 

          สำหรับรถแข่ง Super Car Class GT3 ซึ่งไม่ได้เปิดการแข่งขันในฤดูกาล 2016 ก็คือ รถแข่งที่อยู่ในคลาส GT3 FIA นั่นเอง แต่ก็ใช่ว่าจะนำมาทำการแข่งขัน Thailand Super Series ได้ทันที เพราะว่าทางกรรมการ TSS จะต้องมีการตรวจสอบภายใต้มาตรฐาน Balance of Performance (B.O.P) ซึ่งถือเป็นกติกาสากลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสมรรถนะในรถแข่งแต่ละคัน

          ตัวอย่างของรถแข่ง GT3 ที่สามารถลงทำการแข่งขันในคลาส Super Car GT3 ได้ มีดังต่อไปนี้ Nissan GT-R Nismo GT3, McLaren MP4 GT3, Aston Martin Vantage GT3, Lamborghini LP560-4 GT3 และอื่นๆ อีกมากมาย

 

รถแข่ง Lamborghini Gallado จากทีม Vattana Motorsport เข้าแข่งขันในรุ่น Super Car GT3 ในปี 2015

 

          สำหรับบทความนี้ ก็ครบถ้วนกระบวนความเป็นที่เรียบร้อย หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้รับความเข้าใจเกี่ยวกับความแตกต่างของรถแข่ง Super Car GTC และรถแข่ง Super Car GTC รวมไปถึงภาพรวมของรถแข่ง Super Car GT3 ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าหากเราเข้าใจพื้นฐานของตัวรถแข่งแต่ละรุ่นแล้ว ก็จะสามารถรับชมการแข่งขันได้สนุกสนานมากขึ้นอย่างแน่นอน

          ท่านผู้อ่านที่มีใจรักในกีฬามอเตอร์สปอร์ต และสนใจจะเข้าชมการแข่งขัน TCR Thailand สามารถสัมผัสประสบการณ์การแข่งขันรถยนต์ทางเรียบอันยิ่งใหญ่ในรายการ 2016 Thailand Super Series (สนามที่ 2) ได้ที่ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ในวันที่ 7-10 กรกฎาคม 2559 นอกจากนั้น ท่านผู้อ่านยังสามารถรับชมการถ่ายทอดสดแบบวินาทีต่อวินาทีได้ที่ http://www.thailandsuperseries.net/ และสามารถอัพเดทผลการแข่งขันรวมไปถึงกิจกรรมต่างๆ ได้โดยตรงที่ http://www.boxzaracing.com/

Salmon Power
เขียนโดย: Salmon Power
เมื่อ: 12 มิถุนายน 2559 - 12:31

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook